|
|
|
ครอบครัวแต่ละครอบครัวต่างก็มีสไตล์การเลี้ยงดูเด็กไม่เหมือนกัน บางครอบครัวค่อนข้างเข้มงวดเด็กๆให้อยู่ในระเบียบวินัย บางครอบครัวปล่อยอิสระให้เด็กเต็มที่ หรือบางครอบครัวไม่สนใจเด็กเลยก็มี
สำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ของเรา พ่อแม่ค่อนข้างจะเป็นคนรักศิลปะ รักอิสระ และรักการท่องเที่ยว วิธีการเลี้ยงเด็กของครอบครัวนี้ไม่เป็นพิธีรีตรองเลย แต่จะมีระเบียบวินัยในบางเรื่อง เราก็เลยโชคดีไปที่ไม่ได้ครอบครัวเข้มงวด ทำให้ไม่เครียด
จะว่าไปแล้ว พ่อแม่ของเด็กเหมือนแทบจะยกเด็กให้เป็นลูกของเราเลยก็ว่าได้ ทุกอย่างเราต้องตัดสินใจเองว่าจะดีกับเด็กหรือเปล่า ดังนั้นเราเลยมีอิสระเต็มที่ แต่ครอบครัวนี้มีข้อจำกัดอยู่สามเรื่อง คือ
เรื่องแรกก็คือการดูทีวี เด็กๆไม่ได้รับอนุญาตให้ดูทีวีทุกวัน และรายการที่ดูต้องผ่านการกรองมาก่อน เด็กๆสามารถดูทีวีได้อย่างมากอาทิตย์ละสองครั้ง และแต่ละครั้งไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนเชิงสร้างสรรค์ ออกแนวน่ารักๆ ไม่เน้นความรุนแรงและคำไม่สุภาพ เช่น Winnie The Pooh, Charlie Brown, Bob The Builder, Sesame Street, Caillou อะไรทำนองนั้น
ความแปลกของเด็กอยู่ที่เด็กสามารถจำได้ทุกตอน และก็ชอบเอาเรื่องราวมาพูดให้ฟังตลอด การดูทีวีมากเกินไปสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่าห้าขวบ อาจจะทำให้เด็กมีสมาธิสั้น หรืออาจจะกลายเป็นเด็กไฮเปอร์ได้ เราเลยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เรื่องต่อมาคือการรับประทานอาหาร ครอบครัวนี้จะให้ความสำคัญกับการนั่งทานอาหารทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารค่ำ ถึงเวลาอาหารเมื่อไหร่ เด็กๆต้องหยุดเล่น และมานั่งทานอาหารอย่างเรียบร้อย ต้องพยายามทานเอง และห้ามทานไปเล่นไป ข้อนี้เราชื่นชอบมาก เพราะทำให้เด็กมีวินัย ไม่ทานคำเล่นคำ นอกจากนั้นทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิกในครอบครัวที่เจอมาในแต่ละวัน ทำให้ทุกคนผูกพันกันมากขึ้น สถาบันครอบครัวก็แข็งแรงขึ้น
ข้อที่สามก็คือ เวลานอนของเด็ก เด็กๆของครอบครัวนี้จะต้องนอนไม่เกินสองทุ่มครึ่ง และก่อนนอนทุกครั้งต้องมีการอ่านนิทานก่อนนอน เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ความสามารถของเด็กอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะอ่านนิทานให้ฟังกี่เล่ม อ่านแค่ครั้งเดียว เด็กก็จำเรื่องราวได้อย่างรวดเร็ว และถ้าเราอ่านข้าม เด็กก็จะแย้งว่าไม่ใช่อย่างนี้ ดังนั้นเวลาจะลักไก่เด็กๆ ก็ต้องระวังหน่อย ที่บ้านโฮสท์เรามีหนังสือนิทานนับแล้วเกินห้าร้อยเล่ม เป็นห้องสมุดเด็กขนาดย่อมได้เลย เราเลยได้เพลิดเพลินกับการอ่านนิทานไปด้วย
นอกเหนือจากสามข้อข้างบนแล้ว เราได้รับอิสระในการดูแลเด็กเต็มที่ สามารถพาเด็กๆไปได้ทุกที่ จะเล่นกับเด็กอย่างเมามันแค่ไหนก็ไม่เคยโดนดุ เราจะทำตัวให้เหมือนเป็นเพื่อนกับเด็ก บางครั้งเล่นมากเกินไป จนเด็กคิดว่าเราอายุเท่ากับเค้า เด็กก็คิดไปเรื่อย มีจินตนาการสูงก็อย่างนี้แหละ กิจวัตรประจำวันของเราก็คือพาเด็กคนโตไปส่งที่โรงเรียนเด็กเล็ก และก็จะมีเวลาอยู่กับเจ้าตัวเล็กโดยลำพัง ปกติตัวเล็กจะนอนตอนสาย เราก็พาตะลอนไปโน่นไปนี่ โดยใส่น้องไว้ที่สายสะพายเด็กและลุยไปด้วยกันทุกที่ตลอดเวลา ตอนบ่ายก็ไปรับคนโตกลับจากโรงเรียน และก็หากิจกรรมทำกัน มีอะไรให้ทำทุกที่ พาไปพิพิธภัณฑ์เด็กบ้าง ไปสนามเด็กเล่น เล่นดนตรี วาดรูป ไปหาขนมทาน ไปนั่งรถไฟเล่น หรือขับรถไปที่ต่างๆ บางทีก็ช่วยกันทำอาหารทาน มีลูกมือเป็นเด็กก็วุ่นวายไปอีกแบบ เด็กๆใช้เวลาอยู่กับเรามากกว่าพ่อแม่ของเค้าซะอีก จนบางครั้งเจ้าตัวเล็กพอเริ่มพูดได้ ก็คิดว่าเราเป็นแม่ มาเรียกเราว่าแม่เฉยเลย เจ้าพี่ชายก็พยายามบอกน้องว่าไม่ใช่ ก็ขำกันไป เห็นเด็กมีความสุขและสนุก เราก็รู้สึกดีไปด้วย
มีบางครั้งที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ไปต่างจังหวัดหลายวัน ก็จะมีคุณปู่คุณย่ามาช่วยดูแล หรือบางทีก็ขับรถพาเด็กไปบ้านของคุณปู่คุณย่าที่แสนจะใจดี เป็นการขับรถที่ทรหดมาก เพราะระยะทางสองชั่วโมงกว่าและก็ต้องไปกับเด็กเล็กๆสองคน การเดินทางไกลของเด็กเล็กเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเด็กมีความอดทนไม่เท่ากับผู้ใหญ่ แต่พอไปถึงก็หายเหนื่อย เพราะที่นั่นสวยเหลือเกิน เป็นเมืองติดชายทะเลชื่อ Stone Harbor, New Jersey บางทีก็ได้เจอกับลูกพี่ลูกน้องของเด็กที่เราเลี้ยง และเค้าก็มี Au Pair เป็นคนไทยเหมือนกัน เลยเล่นน้ำตากแดดทั้งวันและทุกวันที่ไปอยู่ที่นั่น เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขช่วงหนึ่ง
อ๋อ...ลืมบอกไปว่า การคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ ก็ทำให้ภาษาอังกฤษพัฒนาได้เช่นกันนะ เพราะเราต้องพูดคุยกับเด็กตลอด แม้ว่าบางครั้งเด็กจะพูดไม่ชัด อย่างกรณีเรา บางทีพูดไป เด็กก็บอกว่าเธอออกเสียงผิด แต่เราคิดว่าถูก ก็เกิดการถกเถียงกับเด็กเล็กน้อย (ปกติชอบทะเลาะกับเด็กเป็นประจำ นึกไปแล้วก็น่าภูมิใจเหมือนกันนะ อิอิ ) สรุปก็ต้องถามโฮสว่าอันไหนถูก เราก็จะได้รู้คำตอบที่ถูกต้อง เกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำ
เลี้ยงลูกเค้าก็ต้องทำให้เหมือนว่าเป็นลูกของเรา เราจะได้รู้สึกดีและไม่เหนื่อย แค่อย่าลืมว่าเราต้องเข้าใจวิธีการเลี้ยงลูกของครอบครัวที่เราไปพักอยู่ด้วยก่อน พ่อแม่เด็กก็จะให้ความไว้วางใจเรา เด็กๆก็จะเคารพและรักเราในที่สุด ความผูกพันในครอบครัวก็จะเกิดขึ้นและเราก็จะมีความสุขในการเป็น Au Pair
|
Cradit ; http://www.bloggang.com/ |